สำรวจ ค้นหา และค้นพบ (การเรียนรู้)

20180417-_DSC3085-2

ตั้งแต่ภูมิขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 การเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ของภูมิเกิดขึ้นจากการที่เราปล่อยให้ภูมิใช้เวลากับเรื่องที่สนใจอย่างเรื่อยๆ เปื่อยๆ หยิบๆ จับๆ เล่นไปเล่นมา โดยให้ความสนุกและความสนใจของเขานำไป ช่วงเวลาแบบนี้ ดูผิวเผินเหมือนไม่ได้ประโยชน์และไม่เกิดการเรียนรู้อะไร และบางครั้งอาจทำให้รู้สึกอึดอัด รู้สึกเสียเวลาจนอยากจะจับเขามาเข้าสู่ขบวนการการเรียนรู้ที่มีแบบแผนแบบที่เราคุ้นเคย (เพราะอยากเห็นผลเร็วและเราก็โตมากับวิธีแบบนี้)

แต่เราเลือกที่จะปล่อยตราบใดที่เขายังสนใจสิ่งตรงหน้าอย่างกระตือรือล้น เพราะเชื่อว่ามีการเรียนรู้บางอย่างเกิดในหัวของเขาแน่ๆ แม้ไม่ใช่เรื่องความรู้ทางวิชาการ หรืออย่างน้อยที่สุด ในหัวใจของเขาก็ได้สัมผัสความสุขกับการเดินตามความสนใจของตัวเอง

การปล่อยให้เขาได้ใช้เวลาและทดลองทำอะไรกับสิ่งที่สนใจอย่างอิสระจะกลายเป็นฐานที่มั่นคง หากเขาตัดสินใจเดินหน้าต่อ เพราะเขาได้ผ่าน ‘การสำรวจ’ ตัวเองและการสำรวจสิ่งนั้นว่าเขาสนใจหรือไม่ และถ้าเราปล่อยให้เขาได้ใช้เวลาอย่างอิสระนานพอ เวลาที่เราชวนคุยถึงเรื่องที่เขาสนใจอยู่ เรามักจะได้คำตอบที่สนุก (ไม่ใช่คำตอบที่ถูก) และได้รับสัญญาณความสนใจที่ชัดเจน

(สำหรับบ้านเรา) นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่ดี

หลังจากนั้น ช่วงของ ‘การค้นหา’ ก็เริ่มขึ้น ถึงตอนนี้ เราต้องการความกว้างและความหลายหลายของความเป็นไปได้ต่างๆ ในเรื่องที่เขาสนใจ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่บ้านเรียนอย่างเราที่จะมองหาวัตถุดิบต่างๆ มาชวนเขาเข้าไปค้นหา

ยิ่งได้เห็น ได้ลองทำมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้เขามีโอกาสค้นหาแง่มุมที่เขาอยากทำในเรื่องนั้นๆ ต่อ เช่น ในช่วงสำรวจ ภูมิบอกว่าเขาชอบเรื่องหุ่นยนต์ แต่ในเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์นี้ก็ยังสามารถแตกย่อยออกไปได้อีกหลายด้าน เช่น ด้านกลไก ด้านการเขียนโปรแกรม ด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ

ช่วงค้นหานี่แหละที่เขาจะค่อยๆ ลงมือทำไปทีละด้านๆ ได้ลองให้รู้ว่าตรงไหนที่เขาอยากรู้และชอบทำ เป็นช่วงที่ใช้เวลามาก เพราะต้องเรียนรู้หลายเรื่องในเวลาเดียวกัน

เราจะได้เห็นความแน่วแน่ของเขา ได้เห็นการใช้พลังทุกด้านที่เขามีก็ช่วงนี้ เป็นช่วงที่เขาผันความสนุกของเขามาเป็นผลงานที่เขาอยากเห็น ได้หาข้อมูลจริง ลองทำจริง และแก้ปัญหาจริง

เราจะได้รู้ว่าเขาชอบจริงๆ หรือไม่ก็ช่วงการค้นหานี้

ถ้าเขาอดทนมากพอและเราให้เขามีเวลาอยู่กับสิ่งนั้นนานพอ เขาจะค่อยๆ เข้าสู่ช่วง ‘ค้นพบ’ ช่วงที่ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นที่ละนิดๆ ให้เขามีกำลังเดินต่อ เขาจะเริ่มปะติดปะต่อภาพที่เคยกระจัดกระจายได้มากขึ้น จากที่ไม่เห็นอะไรเลย ก็ค่อยๆ เห็นสิ่งที่ทำเป็นรูปเป็นร่างชัดขึ้น

การค้นพบทีละเล็ก ทีละน้อยของเขาเป็นเหมือนเสาหลักที่เขาปักบอกทางและตำแหน่งของตัวเองตลอดเวลาที่เขาเดินทางสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ของเขา เป็นหลักที่ช่วยให้เขาว่าเขากำลังทำอะไร และสามารถเดินกลับมาที่ตำแหน่งนั้นด้วยความมั่นใจ หากเขาเกิดหลงทาง

กระบวนการแบบนี้เป็นรูปแบบที่พ่อแม่อย่างเราไม่คุ้นเคย และต้องใช้เวลามาก ซึ่งต่างจากการเรียนในห้องเรียนแบบที่เราโตมา บรรยากาศแบบที่เมื่อครูเดินเข้ามาในห้องปุ๊บ ทุกอย่างต้องเหมือนเปิดสวิชท์ปั๊บ ฟังแล้วต้องค้นพบ(เข้าใจ)ทันทีโดยไม่ต้องให้เวลากับการสำรวจและค้นหา นึกเล่นๆ ดู นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ว่าทำไมเรา (ส่วนใหญ่) ถึงลืมความรู้ที่เราจำติดตัวเข้าห้องสอบแทบทันทีหลังสอบเสร็จ เพราะเราไม่ได้เริ่มจากความสนใจ และไม่เคยปักหลักของเราเอง

(บ้าน)เรียน — รู้ — ชีวิต

ตอนเริ่มทำบ้านเรียนให้ภูมิเมื่อสี่ปีก่อน
คิดถึงเรื่อง “การเรียนการสอน” มากว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร
คงเป็นเพราะเราโตมากับการเรียนรูปแบบนี้

พอทำบ้านเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง
ก็รู้สึกว่าสิ่งที่คิดๆ อยู่ และอยากรู้มันใหญ่กว่านั้น
และทำให้นึกไปถึงเรื่อง “การศึกษา”

เมื่อนึกได้แบบนี้ ก็เปิดหูเปิดตาอ่านเรื่องการศึกษามาเรื่อยๆ
แต่ลึกๆ ก็รู้สึกว่ามีบางอย่างหายไป
จนมานึกออกว่า เรากำลังมองหาเรื่อง “การเรียนรู้”
เพื่อจะเข้าใจกระบวนการภายในของของผู้เรียน
เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทั้งสองเรื่องแรกสำเร็จ

หลังจากเฝ้าดูลูกเรียนรู้และล้มๆ ลุกๆ กันมา 4 ปีกว่า
…เรื่องการเรียนการสอนก็หายไป
…เรื่องการศึกษายังคงอยู่
…เรื่องการเรียนรู้ยังสำคัญ

และเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า
ทั้งหมดที่คิดๆ อยู่ เป็นเรื่องของ “ชีวิตและคุณค่า” ของตัวเขาเอง

…ที่อยากให้ลูกเรียนรู้มากที่สุด

 


  • บันทึกไว้ให้รู้ว่าเราคิดอะไรกับเส้นทางการทำบ้านเรียนของเรา วันข้างหน้า เราอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ และบันทึกให้ลูกได้รู้เมื่อเข้าโตขึ้น
  • โพสนี้เขียนขึ้น เนื่องจากเมื่อวันก่อนมีโอกาสได้ไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวการเรียนรู้ของบ้านเรียน แต่ละบ้านก็มีแนวคิดและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เลยอยากบันทึกความคิดที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับบ้านเรียนของครอบครัวเราไว้หลังจากลองคิดลองทำมา 4 ปี

20171206-_DSC9415

ตอนนี้กล่องใส่ของเล่นที่เสียแล้วกลายหีบสมบัติล้ำค่าของเด็กชายภูมิไปเรียบร้อยแล้ว ความสนใจเรื่องการทำหุ่นยนต์เล่นเองค่อยๆ ช่วยให้เขามองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในมากขึ้น และมองข้ามความเจ๋งภายนอกไปทีละนิดๆ

เขาค่อยๆ เรียนรู้ว่า ของเล่นที่เสียแล้ว ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในนั้นเสียทั้งหมด อุปกรณ์หลายอย่างยังใช้ได้ดี ถ้าเรามีความรู้พอที่จะหยิบมันมาใช้

แม่กับพ่อรอดูหุ่นยนต์ตัวใหม่ของภูมิอยู่นะ

20170920-IMG_9100m

บ้านเรามักจะให้ลูกๆ ทำอะไรด้วยตัวเองเสมอหากดูแล้วเขาน่าจะทำได้

เมื่อยังเล็ก เรื่องที่ภูมิทำส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่ทำคนเดียวได้หรือเกี่ยวข้องกับเฉพาะคนในครอบครัว ยิ่งโตขึ้น สิ่งที่ลูกทำก็เกี่ยวข้องกับคนอื่นมากขึ้น อย่างเช่นการไปซื้อของ หรือถามข้อมูล

ด้วยความที่ยังเด็กและอยู่ในช่วงฝึกฝน บางครั้งก็จะใช้เวลานานกว่าผู้ใหญ่ ไม่ปุ๊บปั๊บทันใจ แต่เกือบทุกครั้ง ภูมิจะได้เจอผู้ใหญ่ที่เข้าใจ แนะนำด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และเต็มใจรอ

ผมรู้สึกขอบคุณและมักจะกล่าวขอบคุณกับผู้ใหญ่จิตใจดีเหล่านี้ที่มีส่วนในการเรียนรู้และเติบโตของภูมิและเด็กทุกคนอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ดีๆ ที่เด็กๆ ได้รับจากสังคมจะช่วยบ่มเพาะจิตใจที่ดี และรู้จักการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นต่อไป

เมล็ดพันธุ์ความดีจากการอบรมสั่งสอนในครอบครัวนั้นโตยาก หากพวกเขาไม่เคยเห็นตัวอย่างในชีวิตจริงที่เป็นเสมือนสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต