20171206-_DSC9415

ตอนนี้กล่องใส่ของเล่นที่เสียแล้วกลายหีบสมบัติล้ำค่าของเด็กชายภูมิไปเรียบร้อยแล้ว ความสนใจเรื่องการทำหุ่นยนต์เล่นเองค่อยๆ ช่วยให้เขามองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างในมากขึ้น และมองข้ามความเจ๋งภายนอกไปทีละนิดๆ

เขาค่อยๆ เรียนรู้ว่า ของเล่นที่เสียแล้ว ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างในนั้นเสียทั้งหมด อุปกรณ์หลายอย่างยังใช้ได้ดี ถ้าเรามีความรู้พอที่จะหยิบมันมาใช้

แม่กับพ่อรอดูหุ่นยนต์ตัวใหม่ของภูมิอยู่นะ

น้าครับ อันนั้นใช่ Walkie Talkie หรือเปล่าครับ

DCIM105GOPROGOPR0909.JPG

“น้าครับ อันนั้นใช่ Walkie Talkie หรือเปล่าครับ”

ภูมิชี้ไปที่อุปกรณ์ติดรถแท๊กซี่ที่เอาไว้ใช้พูดกับศูนย์ประสานงานฯ คุณคนขับแท๊กซี่ตอบว่า “เป็นวิทยุสื่อสารนะ แต่ไม่ได้ใช้แล้ว”

“แล้วคุณน้าใส่หูฟังทำไมเหรอครับ” (หูฟังที่เสียบอยู่กับโทรศัพท์มือถือ)

“อ่อ อันนี้เป็นโปรแกรมคล้ายๆ กับวิทยุสื่อสารนั่นแหละ ไว้ใช้คุยกับคนอื่นๆ”

“อ่อ ครับ”

แล้วคุณคนขับแท๊กซี่ก็หยิบโทรศัพท์มากดโน่นกดนี่สักพักเหมือนจะเช็คดูข้อความ (ซึ่งผมแอบเสียวอยู่นิดนึง) แต่แล้วก็มารู้ว่าเขาพยายามจะเซ็ตและโชว์ให้ภูมิดูว่าโปรแกรมนั้นเป็นยังไง และแถมด้วยการพูดคุยกับเพื่อนเป็นรหัสวิทยุสื่อสารให้ภูมิฟัง ทำเอาภูมิยิ้มกว้าง

และตลอดการเดินทางหลังจากนั้น เราก็คุยกันเรื่องวิทยุสื่อสารและรหัสพื้นๆ ต่างๆ ที่คุณน้าแท๊กซี่ใช้ประจำ เช่น 600 คือ ภรรยา, 00 คือ รอ, 39 คือ รถติด, 43 คือ ด่านตำรวจ ฯลฯ

รู้สึกขอบคุณความน่ารักของคุณคนขับแท๊กซี่จริงๆ กลับมาถึงบ้าน เราเลยมีอะไรสนุกๆ มาศึกษากันต่อ

10 มกราคม พ.ศ.2560

An Idiom A Day : Rain cats and dogs

ภูมิเริ่มสนใจสำนวนในภาษาอังกฤษ (idiom) จากการอ่านหนังสืออ่านเล่น เพราะลักษณะพิเศษของสำนวน คือความหมายไม่ตรงกับคำศัพท์ ซึ่งจะว่ายากก็ยาก จะคิดให้สนุกก็สนุก

เวลาอ่านเจอสำนวนประหลาดๆ ภูมิก็จะถาม และพอรู้ความหมาย ก็จะขำชอบใจ และเอาสำนวนที่เจอใหม่มาพูดเล่นแบบตลกๆ กัน

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผมคิดว่าน่าจะชวนภูมิเอาความสนุกที่เขาเจอในสำนวนต่างๆ มาบันทึกเก็บไว้ และคุยกันเลยไปถึงไอเดียการทำรายการเสียงเกี่ยวกับสำนวนภาษาอังกฤษ ภูมิฟังแล้วชอบและอยากลองทำดู (เย้!)

เราตั้งใจทำโปรเจกต์การเรียนรู้นี้เป็นเหมือนรายการวิทยุ ส่วนหนึ่งเพราะความชอบส่วนตัวของภูมิ เพราะตั้งแต่เล็ก ภูมิเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากการฟังค่อนข้างมากและจะมีสมาธิกับการฟังมากกว่าการดู และอีกส่วนหนึ่งคือความไม่ซับซ้อนของขั้นตอนการทำ เพื่อให้เขาสามารถทำเองได้ทุกอย่างในท้ายที่สุด

สำหรับตอนแรกของรายการ ‘An Idiom A Day by Bhoom (and papa)’ ภูมิเลือกสำนวน “Rain cats and dogs” มาทำครับ — พ่อต้องร่วมรายการด้วยเพราะภูมิอยากให้เป็นบรรยากาศแบบคุยกัน

ภูมิบอกว่าอยากให้ฟังสนุกและมีประโยชน์ ลองฟังกันดูนะครับ

(ลอง)ซ้อมเดาะปิงปอง เพื่อชนะตัวเอง

20160815-_mg_2392

เกือบ 5 เดือนที่น้องภูมิเรียนปิงปอง เขาอยากเก่งเหมือนพี่ๆ และเพื่อนๆ ที่เรียนก่อนหน้าเขา (ส่วนใหญ่เรียนมามากกว่า 1 ปี) สำหรับภูมิ การตีปิงปองเก่งขึ้นคือ การตีลูกได้แรง การตบ การตีท่ายากต่างๆ และการชนะในการเล่นแข่งกัน

น้องภูมิจะบอกผมด้วยความภูมิใจทุกครั้งที่เขาสามารถตีลูกแบบยากๆ (เท่ๆ) ได้

ที่ผ่านมา ภูมิยังคงรู้สึกแย่แทบทุกครั้งที่เขายังไม่สามารถชนะคนอื่นได้ สลับดีใจกับแต้มที่ได้เป็นครั้งคราว และถึงแม้ว่าจะตีได้ดีขึ้นมาก (ครูบอก) แต่ความมั่นใจในตัวเองของเขาจะขึ้นอยู่กับผลแพ้ชนะในการตีแข่งกับคนอื่น

ผมบอกภูมิอยู่เสมอๆ ว่า เขาน่าจะใช้เวลาฝึกซ้อมกับตัวเองในเรื่องพื้นฐานให้มากๆ เช่น เดาะปิงปอง เพราะจะช่วยให้เขาเล่นได้ดีขึ้น แต่ภูมิรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ และไม่สนใจที่จะฝึกฝนเลย บางครั้ง หลังจากบอกไป กลับทำให้เขารู้สึกไม่ดี (ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะเขารู้ว่าตัวเองทำไม่ได้ และไม่อยากยอมรับมัน)

ผมรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนี้กับเขา เพราะเชื่อลึกๆ ว่าเขาเองก็อยากทำให้ได้ แต่ยังยอมรับไม่ได้ว่ามันต้องใช้เวลา และต้องค่อยๆ ฝึกไป สำหรับผม การเป็นส่วนหนึ่งของเดินทางของลูก คือการเดินไปกับเขา ไม่ใช่ยืนรอเอาใจช่วยระหว่างทาง หรือคอยลุ้นอยู่ที่ปลายทาง

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมชวนน้องภูมิเดาะปิงปองแบบมีเป้าหมายกัน แต่เป็นเป้าหมายที่จำนวนครั้งไม่สำคัญเท่าคุณภาพของการเดาะ เกณฑ์ในการเดาะเล่นของเราคือ ให้เดาะตามจังหวะเครื่องเคาะจังหวะ (metronome) เพราะสิ่งสำคัญคือการควบคุมลูกปิงปองให้ได้ดั่งใจ

ครั้งนี้ผมชวนภูมิด้วยท่าทีที่ไม่คาดหวังเรื่องผลลัพธ์ เน้นที่ความตั้งใจและความสุขในการทำ ให้เขาโฟกัสที่การเดาะแต่ละครั้งมากว่าจำนวนครั้ง ที่เหลือค่อยว่ากันตามจังหวะของตัวเขาเอง น้องภูมิตอบรับแผนการฝึกเดาะปิงปอง 1 เดือนของเราด้วยความยิ้มแย้ม

วันแรกที่เราเริ่มทำ การเดาะตามจังหวะเพียง 10 ครั้งก็เป็นเรื่องยากสำหรับภูมิแล้ว

เราจึงตั้งเป้าหมายสัปดาห์แรกไว้เพียง เดาะ 20 ครั้ง 3 ชุดทุกวัน
และเพิ่มเป็น 30 ครั้ง 3 ชุดในสัปดาห์ที่สอง
จนสัปดาห์ที่ 4 จะเป็นการเดาะ 50 ครั้ง 3 ชุด

แต่ละวัน ผมจะจดจำนวนครั้งที่ภูมิเดาะได้สูงสุดไว้ในปฏิทินให้เขาได้เห็น บางวันต้องขีดจำนวนที่จดว่าเดาะได้สูงสุดทิ้งไป เพราะเขาเดาะได้มากกว่าที่คิดว่าได้มากที่สุดแล้ว

ผมพบว่าการมีเป้าหมายที่คุณภาพของการเดาะ และเสียงหัวเราะระหว่างเรามีผลต่อพัฒนาการของภูมิมาก ผมจะเดาะเล่นไปกับเขาด้วย ทำตัวเหมือนเพื่อนร่วมซ้อม และในครั้งที่เขาทำไม่ค่อยได้ เราแซวเล่นกันเพื่อให้ความยากเย็นเป็นเรื่องขบขัน

หลังจากผ่านสัปดาห์แรก ภูมิบอกเองว่าต้องปรับเป้าหมายของสัปดาห์ที่สอง และสัปดาห์ต่อๆ ไปใหม่ เพราะเขาทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ครั้งแรกมาก ผมถามความคิดเห็นจากเขาว่าควรเป็นเท่าไหร่ดีแทนที่จะกำหนดให้เขาใหม่ ภูมิตัดสินปรับเพิ่มจำนวนครั้งและจำนวนชุดไปอีกเท่าตัว

เราขีดฆ่าเป้าหมายเดิมทิ้ง และเขียนเป้าหมายใหม่ไว้ข้างๆ กันเพื่อให้ตัวเขาเองเห็นว่าเขาพร้อมที่จะเพิ่มระดับความท้าทายให้ตัวเองแล้ว

ตอนนี้เราเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 และวันนี้ภูมิสามารถเดาะได้สูงสุด 750 ครั้ง แถมบอกเองว่าอยากทำให้ได้ 1,000 ครั้ง

เวลาที่เขาฝึกกับตัวเอง สิ่งสำคัญไม่ใช่ชัยชนะเหนือคนอื่น แต่เป็นความสุขที่ได้ชนะตัวเอง

— ภูมิในวัย 8 ขวบ, สิงหาคม พ.ศ.2559