(บ้าน)เรียน — รู้ — ชีวิต

ตอนเริ่มทำบ้านเรียนให้ภูมิเมื่อสี่ปีก่อน
คิดถึงเรื่อง “การเรียนการสอน” มากว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร
คงเป็นเพราะเราโตมากับการเรียนรูปแบบนี้

พอทำบ้านเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง
ก็รู้สึกว่าสิ่งที่คิดๆ อยู่ และอยากรู้มันใหญ่กว่านั้น
และทำให้นึกไปถึงเรื่อง “การศึกษา”

เมื่อนึกได้แบบนี้ ก็เปิดหูเปิดตาอ่านเรื่องการศึกษามาเรื่อยๆ
แต่ลึกๆ ก็รู้สึกว่ามีบางอย่างหายไป
จนมานึกออกว่า เรากำลังมองหาเรื่อง “การเรียนรู้”
เพื่อจะเข้าใจกระบวนการภายในของของผู้เรียน
เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทั้งสองเรื่องแรกสำเร็จ

หลังจากเฝ้าดูลูกเรียนรู้และล้มๆ ลุกๆ กันมา 4 ปีกว่า
…เรื่องการเรียนการสอนก็หายไป
…เรื่องการศึกษายังคงอยู่
…เรื่องการเรียนรู้ยังสำคัญ

และเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า
ทั้งหมดที่คิดๆ อยู่ เป็นเรื่องของ “ชีวิตและคุณค่า” ของตัวเขาเอง

…ที่อยากให้ลูกเรียนรู้มากที่สุด

 


  • บันทึกไว้ให้รู้ว่าเราคิดอะไรกับเส้นทางการทำบ้านเรียนของเรา วันข้างหน้า เราอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ และบันทึกให้ลูกได้รู้เมื่อเข้าโตขึ้น
  • โพสนี้เขียนขึ้น เนื่องจากเมื่อวันก่อนมีโอกาสได้ไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวการเรียนรู้ของบ้านเรียน แต่ละบ้านก็มีแนวคิดและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เลยอยากบันทึกความคิดที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับบ้านเรียนของครอบครัวเราไว้หลังจากลองคิดลองทำมา 4 ปี

20170920-IMG_9100m

บ้านเรามักจะให้ลูกๆ ทำอะไรด้วยตัวเองเสมอหากดูแล้วเขาน่าจะทำได้

เมื่อยังเล็ก เรื่องที่ภูมิทำส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่ทำคนเดียวได้หรือเกี่ยวข้องกับเฉพาะคนในครอบครัว ยิ่งโตขึ้น สิ่งที่ลูกทำก็เกี่ยวข้องกับคนอื่นมากขึ้น อย่างเช่นการไปซื้อของ หรือถามข้อมูล

ด้วยความที่ยังเด็กและอยู่ในช่วงฝึกฝน บางครั้งก็จะใช้เวลานานกว่าผู้ใหญ่ ไม่ปุ๊บปั๊บทันใจ แต่เกือบทุกครั้ง ภูมิจะได้เจอผู้ใหญ่ที่เข้าใจ แนะนำด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และเต็มใจรอ

ผมรู้สึกขอบคุณและมักจะกล่าวขอบคุณกับผู้ใหญ่จิตใจดีเหล่านี้ที่มีส่วนในการเรียนรู้และเติบโตของภูมิและเด็กทุกคนอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ดีๆ ที่เด็กๆ ได้รับจากสังคมจะช่วยบ่มเพาะจิตใจที่ดี และรู้จักการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นต่อไป

เมล็ดพันธุ์ความดีจากการอบรมสั่งสอนในครอบครัวนั้นโตยาก หากพวกเขาไม่เคยเห็นตัวอย่างในชีวิตจริงที่เป็นเสมือนสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต

20170920-IMG_9100

จากที่แม่กับพ่อคอยดูแลเรื่องอาหารการกินเวลาไปกินข้าวกันที่ศูนย์อาหารตั้งแต่ตัวจิ๋วๆ เราค่อยๆ ให้ภูมิดูแลตัวเองทีละนิด เริ่มตั้งแต่ไปซื้อเป็นเพื่อนแม่ ต่อมาก็ให้ไปเดินเลือกดูอาหารที่ชอบเอง โตขึ้นมาหน่อยก็ให้ช่วยไปหยิบช้อนส้อม พอร่างกายพร้อมก็ให้ถืออาหารกลับมาที่โต๊ะเอง

ถึงตอนนี้ภูมิก็สามารถดูแลตัวเองได้ทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่ไปเดินเลือกซื้อ สั่งอาหาร จ่ายเงิน (ดูเรื่องเงินทอน) และถืออาหารกลับมาที่โต๊ะเอง

#บ้านเรียน #วิชาดูแลตัวเอง

Beewax wrap ทำเองได้ ง่ายๆ เลยนะ

สำหรับแฟนๆ ที่อ่าน Facebook ของครอบครัวเราอยู่ คงจะรู้แล้วว่าปีนี้บ้านเราพยายามลดขยะใช้แล้วทิ้งอย่างจริงจัง จากเดิมที่เราพกพาขวดน้ำส่วนตัวออกไปไหนมาไหนแทนการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นประจำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตอนนี้เราเพิ่มการปฏิเสธถุงหิ้วจากร้านค้าเพื่อลดปริมาณการใช้และสร้างขยะถุงก๊อปแก๊ป รวมถึงแก้วกาแฟ และกล่องโฟมด้วย (ดูวิดีโอที่น้องภูมิอธิบายเกี่ยวกับโครงการ Mission: To Green ของเราได้ที่นี่นะคะ)

เมื่อหลายวันก่อน เพื่อนของเล็กได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผ้าที่เคลือบด้วย Beewax เพื่อใช้ห่อหุ้มอาหารแทน plastic wrap เห็นแล้วก็ต้องบอกว่าโอ้โห มันเป็นไอเดียที่ดีมากๆ เลยค่ะ เพราะที่บ้านเราก็ใช้เจ้าแผ่นพลาสติกบางๆ นี่ห่อ/ปิดอาหารในตู้เย็นอยู่เสมอ แม้ว่าจะพยายามใช้กล่องพลาสติกที่มีฝาปิดอยู่บ้าง แต่ก็ได้ไม่ทั้งหมด

เล็กลองค้นหาข้อมูลต่อก็เห็นว่ามีคนแบ่งปันวิธีทำผ้า Beewax ด้วยตัวเองอยู่หลายวิธีเลยหล่ะค่ะ ดูแล้วก็ไม่น่ายากอะไร วันนี้เลยลองชวนเด็กๆ ทำกันดู เห็นว่าเป็นประโยชน์ เลยมาเขียนวิธีทำแบ่งปันต่อค่ะ เผื่อบ้านไหนอยากลองทำใช้เองบ้าง จริงๆ ทำได้หลายวิธีเลยแต่ของเล็กลองทำด้วยวิธีรีดนะคะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  1. ไขผึ้งธรรมชาติ (Food Grade)
  2. ผ้าคอทต้อน ขนาดตามที่ต้องการ
  3. กระดาษไขสำหรับทำขนม 2 แผ่น
  4. เตารีด

วิธีทำ

  1. ขูดไขผึ้งให้เป็นฝอย
  2. ตัดผ้าให้ได้ขนาดตามต้องการ
  3. วางกระดาษไขสำหรับทำขนมบนที่รองรีดผ้า
  4. วางผ้าบนกระดาษไข
  5. โรยไขผึ้งให้กระจายไปทั่วผ้า
  6. ปิดผ้า (ที่มีไขผึ้งโรยอยู่) ด้วยกระดาษไขอีกแผ่น
  7. ใช้เตารีดรีดไปบนกระดาษไขด้วยไฟอ่อน คอยดูให้ไขผึ้งละลายไปทั่วผืนผ้า
  8. เปิดกระดาษไขออก แล้วหยิบผ้าที่ชุ่มไขผึ้งออกตากลมประมาณ 2-3 นาที เป็นอันเสร็จค่ะ

วิธีใช้

เราสามารถใช้ผ้า Beewax ของเราในการห่ออาหารหรือขนมแห้งๆ ได้เลยค่ะ หรือจะใช้แทน Plastic wrap ปิดชามอาหารเข้าตู้เย็นก็เพียงแต่เอาผ้าแว๊กปิดบนชามแล้วใช้มือของเราค่อยๆ ตะล่อมให้ผ้าแนบเป็นทรงพอดีกับชาม หรือใช้หนังยางรัดก็ได้ค่ะ ผ้าแว๊กซ์นี้สามารถนำมาล้างด้วยน้ำและน้ำยาล้างจานอ่อนๆ เพื่อใช้ซ้ำได้ ข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือห้ามใช้กับอาหารที่มีความร้อนนะคะ 

หวังว่าโพสการทำผ้าเคลือบ Beewax นี้จะเป็นประโยชน์และทำให้ผู้อ่านอยากลองทำเพื่อช่วยกันลดการใช้พลาสติกด้วยกันนะคะ :D

#MissionToGreen